อีก 1 วันก็เข้าสู่ปี 2024 แล้วครับ หลายๆคน คงเริ่มหยุด พักผ่อนกับครอบครัว ท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

Admin ขอเล่าเรื่อง ESG ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะสำคัญอย่างมากในปีหน้า

เริ่มตั้งแต่ในช่วงปลายปีนี้ที่ภาครัฐส่งเสริมให้บริษัทหลักทรัพย์ออกกองทุน Thai ESG ที่มุ่งลงทุนในธุรกิจที่มีความโดดเด่นด้านความยั่งยืน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล และให้สิทธิลดหย่อนภาษีถึง 100,000 บาท

จะเห็นได้ว่าการกำหนดกลยุทธ์ด้าน ESG ขององค์กร สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆและ กำลังจะเป็นทางรอดขององค์กร ไม่ใช่ทางเลือกเหมือนในอดีต

บทนำ

จะเห็นได้ว่า ท่ามกลางสภาวะทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การนำหลักการ ESG มาใช้ จะช่วยสร้างความสำเร็จในระยะยาวและความยั่งยืนสำหรับธุรกิจ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องคำนึงถึงหลัก ESG มาใช้ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ

ในบทความนี้จะพูดถึงการนำเครื่องมือ OKR มาใช้ในการขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) ต่อองค์กร

หลักการพื้นฐานของ ESG

Environmental Considerations: E ตัวแรก เริ่มจากการที่องค์กรมีความมุ่งมั่นในด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมควรมุ่งที่จะนำแนวปฏิบัติอย่างยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ เช่น แนวปฏิบัติของ Global Report Initiative (GRI) สำหรับการลดการใช้พลังงาน การบริหารของเสีย และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยการใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานที่มีประสิทธิภาพ การกำหนดกลยุทธ์การลดของเสียและการกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ท้าทายและชัดเจน (GRI Standards,2016)

Social Considerations: เสาหลักด้านสังคมของ ESG เน้นด้านผลกระทบของธุรกิจต่อสังคม กลยุทธ์ด้านสังคมตามกรอบของ Sustainability Accounting Standard Board (SASB) เกี่ยวข้องกับ การดูแลพนักงานเพื่อให้มีสุขภาวะที่ดี(Employee well-being) การส่งเสริมด้านความหลากหลาย แนวคิดการบริหารที่สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กร(Diversity and Inclusion) และการมีส่วนร่วม(engagement) กับชุมชนท้องถิ่น ธุรกิจ SMEs สามารถประยุกต์ใช้แนวปฏิบัติด้านสังคม เช่น การจัดการทำงานแบบยืดหยุ่น( flexible work arrangement) การฝึกอบรมให้พนักงานเข้าใจด้านความหลากหลายและความแตกต่างของพนักงาน และการริเริ่มโครงการต่างๆเพื่อพัฒนาและสร้างความมีส่วนร่วมกับชุมชนที่เกี่ยวข้อง

Governance Considerations: ธรรมาภิบาล คือ หลักการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งมุ่งเน้นด้าน การควบคุมภายใน นโยบาย และ โครงสร้างของบริษัท หลักธรรมภิบาลตามกรอบของ Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ได้พูดถีงการดำเนินการตัดสินใจที่โปร่งใส การบริหารกิจการอย่างมีจริยธรรม และ โครงสร้างผลตอบแทนที่เป็นธรรมทั้งสำหรับผู้ถือหุ้น ผู้บริหารและพนักงาน (OECD, 2015)

การใช้เครื่องมือ OKR ในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ ESG

OKR เป็นเครื่องมือ และช่วยองค์กรในการกำหนด ติดตามและทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ OKR สามารถนำมาใช้ในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ ESG ขององค์กร สำหรับขั้นตอนในการนำ OKR ทาง Admin ขอยกตัวอย่างและขั้นตอน โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.กำหนดวัตถุประสงค์องค์กรด้าน ESG ในไตรมาสแรกของปี 2024

1.1.Objective: การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ในไตรมาสแรกของปี
Key Results:

• ลดการใช้พลังงานโดยรวม 15 % จากการนำเทคโนโลยีด้านประหยัดพลังงานมาใช้
• เพิ่มอัตราการนำของเสียมาใช้ใหม่(recycling rates) อย่างน้อย 30%
• ริเริ่มโครงการจัดซื้อสีเขียว (green procurement policy) โดยให้ความสำคัญและส่งเสริม suppliers ที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม

1.2.Objective: การสนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กร(Diversity and Inclusion)
Key Results:

• การเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งในระดับกรรมการบริหารมากกว่า 30 %
• การลดความแตกต่างด้านผลตอบแทน(Pay Gap) ของผู้ชายและผู้หญิงในองค์กร โดยให้มีความแตกต่างกันไม่เกิน 10 %
• การสร้างหุ้นส่วนกับองค์กรชุมชนในท้องถิ่น โดยสนับสนุนงบประมาณอย่างน้อย 1 % ของยอดขาย สำหรับโครงการในการพัฒนาท้องถิ่น

1.3.Objective: การส่งเสริมด้านการบริหารที่มีธรรมาภิบาลในองค์กร (Governance)
Key Results:

• การบรรลุความพึงพอใจของพนักงานในด้านความโปร่งใสขององค์กรอย่างน้อย 90 % ผ่านการจัดประชุมทั่วทั้งองค์กรทุกเดือน (town hall meetings) และสื่อสารการดำเนินกลยุทธ์องค์กรให้พนักงานทราบอย่างต่อเนื่อง
• การฝึกอบรม Code of Ethics and Conduct สำหรับพนักงานทั่วทั้งองค์กร เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
• เผยแพร่ รายงาน ESG ประจำปี ซึ่งครอบคลุมรายละเอียดด้านผลตอบแทนของผู้บริหาร เพื่อสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียอื่น

2.การสร้างความสอดประสาน(Alignment) ของทีม ให้ตอบรับกับเป้าหมาย ESG โดย

2.1.Cascading Objective: โดยถ่ายทอดเป้าหมายองค์กรผ่านไปยังเป้าหมายของทีม ซึ่งเป้าหมายในแต่ละระดับต้องมีความสอดคล้องกัน
2.2.Employee Engagement: การสร้างความมีส่วนร่วมโดยให้พนักงานร่วมกำหนด OKR สำหรับ ESG Strategy และสร้าง Platform ในการสื่อสาร การ feedback และ การชื่นชม เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมและความรู้สึกเป็นเจ้าของ
2.3.Building a Purpose-Driven Culture: โดยการใช้เครื่องมือ OKR ในการสร้างวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย ในทิศทางเดียวกัน

3.การติดตามและวัดผล ESG Key Results

3.1.Data-driven Insights: การใช้ OKR software ในการติดตามข้อมูล real-time ในด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล เพื่อให้ทราบความคืบหน้าและเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจดำเนินกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนด
3.2.Adaptability: OKR มีการกำหนดวัตถุประสงค์เป็นรายไตรมาส เมื่อสิ้นไตรมาสจะมีการ reflect ถึงความสำเร็จ/ล้มเหลวที่ผ่านมา และจะมีการ reset สำหรับ OKR ในไตรมาสถัดไป กระบวนการเหล่านี้จะสร้าง adaptability สำหรับผู้บริหารและพนักงานในการบริหารงานให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

สรุป

การนำเครื่องมือ OKR มาขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กรด้าน ESG จะช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยผู้บริหารและพนักงานต้องมีความเข้าใจในหลักการพื้นฐานของ ESG กำหนดเป้าหมายด้าน ESG ที่ท้าทายและสอดคล้องกับบริบทขององค์กร และใช้เครื่องมือ OKR ในการสร้างความสอดคล้องของเป้าหมายในทุกระดับ ติดตามความก้าวหน้า สร้างความมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของสำหรับพนักงาน ในการร่วมกันขับเคลื่อนกลยุทธ์ ESG ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ เพื่อการเป็นผู้นำที่รับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งในระยะยาวจะสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขันขององค์กร และสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากลต่อไป

Admin หวังว่าเนื้อหาใน EP นี้ จะทำให้ท่านผู้บริหารสามารถนำเครื่องมือ OKR มาขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้าน ESG ขององค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนต่อไป

หากองค์กรใดสนใจนำ OKR มาใช้สามารถติดต่อได้ ที่ 099-249-1636 หรือ info@bacconsultant.com

สวัสดีปีใหม่ และหวังว่าปี 2024 จะเป็นปีมังกรทองของทุกท่านครับ