ในช่วง WFH ระลอก 2 นี้ มีโอกาสได้ดู series เกาหลี เรื่อง Startup เห็นผู้บริหาร Venture capital ที่โหงวเฮ้งน่าจะเป็นพระเอก แต่เป็นพระรองในชีวิตนางเอก ก็เลยหันมานั่งพิจารณา Startup ในไทย จำได้เลาๆว่ากระแสเรื่องนี้ฮือฮาพักใหญ่ เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว บริษัทเทเลคอม ธนาคารขนาดใหญ่ สนับสนุนงบประมาณจัดตั้งหน่วยงานประเภท accelerator มากมาย แล้วก็ค่อยๆแผ่วลง
เมื่อไม่นานนี้ได้มีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์ ผู้บริหารธนาคารขนาดใหญ่ ที่เคยดำเนินโครงการประเภทดังกล่าว บอกว่าจริงๆ แล้ว Startup ในไทยไม่ค่อย work ตอนนี้ก็ยังดำเนินโครงการอยู่ แต่เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายโดยจะพยายามผลักดันให้พนักงานในธนาคารไปจัดตั้ง Startup แทน แต่ก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะจิตวิญญาณของคนเป็น Startup กับ ลูกจ้างมืออาชีพ ไม่เหมือนกัน
พอเกิดวิกฤต COVID ในระลอกสอง ก็เลยคิดได้ว่า ถ้าบริษัท ลองจัดตั้งหน่วยงานต่างๆที่ดำเนินการคล้ายบริษัท Startup น่าจะดี เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภค สภาวะการณ์เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
ก็เลยลองไปค้นสถิติต่างๆดู พบว่าบริษัท Startup 9 ใน 10 แห่ง จะม้วนเสื่อกลับบ้านไปภายใน 5 ปีแรก แต่ก็ยังคิดว่าการนำแนวคิดนี้มาใช้กับหน่วยงานในองค์กร ก็มีข้อดีคือ จะเป็นองค์กรที่ lean สุขภาพแข็งแรง และ ประการสำคัญปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆได้เร็ว
เลยลองมาค้นดูว่า Startup ที่ประสบความสำเร็จ ก็พบว่า หัวใจหลักประการหนึ่ง คือ การมีสินค้าหรือบริการที่เหมาะสมกับตลาด (Product/Market Fit) ซึ่งเหมาะกับ ตลาดที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงเร็ว เนื่องจาก COVID
Product/Market Fit:
กระบวนการค้นหา สินค้า/บริการใหม่ๆที่เหมาะสมกับตลาด ไม่ใช่วิธีการที่เป็นเส้นตรง แต่จำเป็นต้องมีการกำหนดสมมติฐานและทบสอบหลายๆครั้ง แนวคิด OKRs จะช่วยทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นไปได้ง่ายขึ้น ตอนนี้คนอยู่บ้านมากขึ้น ก็จะมีโอกาสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ถ้าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจอาหารสัตว์ออร์แกนิค เราลองมาตั้ง OKRs ดู
Objectives-เป้าหมายที่ท้าทาย: วัตถุประสงค์ต้องเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจ (aspirational) และควรเป็นแผนที่นำทางสำหรับการตั้งสมมติฐาน ซึ่งทำให้ทีมนำไปทดสอบ สมมติฐานแรกๆที่จะทำควรเป็นสมมติฐานเชิงคุณค่า –มีตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงออร์แกนิคในกรุงเทพฯไหม ซึ่งทีมก็อาจเลือกบริเวณย่านที่มีหมู่บ้านจัดสรรเยอะๆ เช่น เลียบทางด่วนเอกมัย รามอินทรา เพื่อทดสอบสมมติฐาน และ ลองกำหนดปัจจัยต่างๆ เช่น ราคา รูปแบบการจัดส่ง แผนสื่อสารการตลาด
Key Results: คือผลลัพธ์หลัก ที่เป็นมาตรวัดถึงความสำเร็จของวัตถุประสงค์ เราอาจตั้ง KRs ใน 4 สัปดาห์ดังนี้
• ขายสินค้าให้ได้ 1,000 รายการ ในห้าง Central EastVille (อันนี้ไม่มี sponsor)
• มีการซื้อซ้ำไม่น้อยกว่า 50 %
• ลูกค้าอย่างน้อย 100 ราย มีการให้ข้อมูลด้านสินค้าผ่านระบบออนไลน์
• ลูกค้าอย่างน้อย 100 ราย มีการบอกต่อไปยังลูกค้าอื่น
ข้อดีของการใช้ OKRs สำหรับ Startup
มุ่งเน้น( Focus) : ด้วยทรัพยากรอันจำกัด เป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนในบริษัท Startup ต้องทุ่มเทพลังงานไปสู่วัตถุประสงค์ที่ได้เลือกแล้ว การใช้ OKRs โดยกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน ทำให้ทุกคนรู้ว่าแต่ละสัปดาห์หรือวันต้องทำอะไร
โปร่งใส (Transparency) : พนักงานจะเห็น OKRs ทั้งขององค์กร ของเพื่อนร่วมงาน หัวหน้าและทุกๆคนในองค์กร ซึ่งทำให้ทุกคนเห็นความก้าวหน้า และสถานะของ OKRs ตลอดเวลา ทำให้ทุกคนก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมๆกัน และช่วยจัดสรรทรัพยากร ไปให้กับทีมที่พบอุปสรรค การค้นเจอปัญหาอย่างรวดเร็ว เป็นสิ่งสำคัญที่พบจากกระบวนการ check-in รายสัปดาห์
การสอดประสานกัน (Alignment) : OKRs ช่วยให้มีการทำงานเป็นทีมมากขึ้น เช่น ทีมขายต้องการที่จะบรรลุการขายสินค้าให้ได้ 1,000 ชึ้นใน 4 สัปดาห์ และทีมบริการลูกค้าต้องการที่จะให้ลูกค้ามีการซื้อซ้ำอย่างน้อย 50 % OKRs แต่ละรายการจะต้องเป็นเป้าหมายร่วมของทั้ง 2 ทีม
เคล็ดลับสำหรับ Startup
ควรมี 2-3 วัตถุประสงค์: เนื่องจากทรัพยากรที่จำกัด
ดำเนินการในช่วงเวลาที่สั้น: อาจมีการทดสอบสมมติฐานในแต่ละครั้ง ภายใน 2 หรือ 3 สัปดาห์ แล้วทดสอบใหม่
เรียนรู้จากความผิดพลาด: เรียนรู้จากสิ่งต่างๆ โดยบันทึกบทสัมภาษณ์ลูกค้า และนำข้อมูลกระจายไปสู่ทีมขาย ทีมบริการลูกค้า หรือ ทีมด้านผลิตภัณฑ์และการตลาด เพื่อปรับปรุงสินค้าอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลสำคัญกว่าความเชื่อส่วนตัว (Data before Ego) : ทุกคนไม่ใช่ Steve Jobs ที่มีสัญชาตญาณอย่างแรงกล้าเกี่ยวกับตลาดและออกแบบผลิตภัณฑ์โดยปราศจากการวิจัยตลาด ผู้ก่อตั้งควรวาง ego ไว้ข้างๆ ฟังข้อมูลตลาด โดยทดสอบสมมติฐาน และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน (pivot) ก่อนที่เงินทุนจะหมด
ดังนั้น OKRs ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ Startup หรือ บริษัททุกขนาด สามารถประยุกต์ใช้เข้ากับหลักการบริหารงาน ทำให้สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่โปร่งใส พร้อมที่จะปรับตัวไปกับตลาด และทดสอบสมมติฐาน ทำหลายๆครั้ง จนกระทั่งสามารถพบ สินค้าที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด (product/market fit)
Admin หวังว่า บทความนี้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริหารนำแนวคิด Startup ไปใช้ในองค์กร และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน มีความพร้อม มีกำลังใจที่จะกลับไปทำงานเต็มรูปแบบในสัปดาห์หน้า และฝ่าฟันอุปสรรคที่เกิดขึ้น ถ้าใจสู้เราต้องผ่านไปได้ครับ
พบกันใหม่สัปดาห์หน้า
แปลและปรับปรุงจากบทความ