ในตอนที่แล้วพูดถึงความล้มเหลวของ BlackBerry ซึ่งวิเคราะห์เจ้าของ Mike Lazaridis ที่ใช้มุมมองนักวิทยาศาสตร์ (Scientist) ซึ่งมองเข้าข้างตนเอง โดยไม่ตระหนักถึงการเติบโตของไอโฟน ในตอนนี้จะพูดถึง มุมมองอื่นๆ เช่น
นักเทศน์ (Preacher)
ในมุมมองนี้ การเปลี่ยนแปลงความเชื่อเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอทางจิตใจ
สำหรับกรณีของ Mike คือการติดอยู่ในความมั่นใจอย่างสุดขั้วที่เชื่อใน keyboard มากกว่าระบบ touch screen เปรียบเสมือนความเชื่อที่เขามีต่อระบบ keyboard ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ BlackBerry
อัยการ (Prosecutor)
ในมุมมองนี้ การปล่อยให้ตนเองถูกชักจูงโดยผู้อื่น ถือเป็นการยอมรับความพ่ายแพ้
ในกรณีนี้ การที่จะยอมรับระบบ touch screen ที่คนอื่นยอมรับ ขัดกับมุมมองในฐานะอัยการที่จะไม่ยอมรับความเห็นหรือการชักจูงโดยผู้อื่น
นักการเมือง (Politician)
ในปี 2012 ขณะที่ ไอโฟน มียอดขายถึง 25% ของตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลก แต่ Mike ยังยืนยันในความคิดแบบเดิม และพูดในที่ประชุมกรรมการบริษัทว่า keyboard เป็นสาเหตุหลักที่ลูกค้าซื้อ BlackBerry
เหมือนนักการเมืองที่จะโฆษณาเฉพาะโครงการของตัวเอง
Mike อ้างอิงถึงลูกค้าหลายล้านรายของ BlackBerry โดยละเลยถึงความจริงที่ลูกค้าหลายพันล้านรายที่พอใจกับระบบ touchscreen
ความเชื่อมั่นในอดีด ตรึงเราไว้ในกรอบของความคิดแบบเดิมๆ (Our conviction can lock us in prisons of our own making)
แนวทางการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่อยู่ที่ลดทอนวิธีคิดแบบเดิม แต่อยู่ที่การเพิ่มวิธีคิดใหม่ๆ สิ่งนี้ต่างหากที่ทำให้ บริษัทแอปเปิ้ลฟื้นคืนชีพจากบริษัทที่กำลังล้มละลายไปสู่บริษัทที่มูลค่าสูงที่สุดในโลก
ในตอนแรกที่แอปเปิ้ลผลิตไอพอด โทรศัพท์มือถือเริ่มมีฟังก์ชั่นที่สามารถเล่นดนตรีได้ ตอนนั้น Steve Jobs ก็ไม่มีความคิดที่จะเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ทีมวิศวกรของแอปเปิ้ลมีการวิจัยเรื่องโอกาสของธุรกิจโทรศัพท์มือถือ และพยายามชักจูง Jobs ถึงเรื่องที่เขาไม่เคยสนใจและกระตุ้นให้เขาท้าทายความเชื่อของตนเอง
ทีมวิศวกรไม่ได้บอก Jobs ให้เปลี่ยนแอปเปิ้ลเป็นบริษัทโทรศัพท์มือถือ แต่ยังคงเป็นบริษัทที่ผลิตคอมพิวเตอร์เพียงแต่เพิ่มโทรศัพท์มือถือเข้าไปในไอพอดเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้ก็ยังรักษา DNA ของแอปเปิ้ลไว้
การเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ Jobs ตั้งทีมวิศวกร 2 ทีมให้แข่งกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยทีมแรกใส่ระบบโทรศัพท์เข้าไปในไอพอด และ อีกทีมย่อคอมพิวเตอร์ Mac ให้เป็น tablet ขนาดเล็กและใส่โทรศัพท์เข้าไป
หลังจากการเปิดตัวของไอโฟนเพียง 4 ปี ยอดขายของไอโฟนสูงถึงยอดขายครึ่งหนึ่งของทั้งบริษัท
เมื่อมองย้อนกลับไป หาก Mike มีความคิดเห็นที่เปิดกว้างมากขึ้น BlackBerry คงเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไอโฟนแน่นอน
จริงๆแล้ว ความรู้ความเข้าใจที่สามารถปรับเปลี่ยนไปมา (cognitive flexibility) อย่างสุดขั้ว การมองโลกในมุมอื่น การมีความคิดเห็นที่เปิดกว้าง จะช่วยให้อยู่รอดในธุรกิจที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การตัดสินใจที่ถูกต้องขึ้นอยู่กับทักษะที่เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ และทักษะการคิดทบทวน(Rethinking) มีบทบาทมากขึ้นในชีวิตของเรา
หวังว่ากรณีศึกษาของ BlackBerry คงเป็นประโยชน์ในการช่วยกระตุกต่อมคิดของเรา ให้เปิดกว้างมากขึ้น
ขอฝาก Quote ที่ควรทบทวนเสมอ
“คำสาปของความรู้คือการที่เราไม่เปิดใจเรียนรู้ถึงสิ่งที่เราไม่รู้
(The curse of knowledge is that it closes our minds to what we don’t know)”
สวัสดีครับ แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้าครับ
เครดิตบทความ THINK AGAIN: The Power of Knowing What You Don’t Know ของ ADAM GRANT นักเขียนชื่อดังที่ได้ #1 New York Times best seller จากหนังสือ ORIGINALS