สวัสดีครับ เข้าสู่สัปดาห์ที่สองของเดือน เม.ย. แล้ว หลายๆท่านคงเตรียมตัวที่จะหยุดสงกรานต์และเที่ยวแล้ว แต่สถานการณ์ดูเหมือนไม่เป็นใจ เข้าสู่การระบาดของโควิดระลอกที่ 3 อย่างไรก็ตาม ขอเป็นกำลังใจ พวกเราคงต้องช่วยกันป้องกัน การ์ดไม่ตก
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานให้ admin ไปเล่าเรื่อง OKRs ให้ฟัง HR หลายที่มีความเข้าใจเรื่อง OKRs ลึกซึ้งมาก แต่หลายๆที่ยังไม่ค่อยเข้าใจ ใน EP นี้ จะพูดถึงว่าทำไมต้อง OKRs และยังมีตัวอย่างการนำ OKRs มาตั้งเป้าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วยครับ
OKRs เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การผลักดันกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เกิดผลได้อย่างรวดเร็ว admin ขอสรุปการนำ OKRs มาใช้ซึ่งเหมาะกับยุคโควิด-19 ที่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ความท้าทาย 5 ประการ ซึ่ง OKRs จะช่วยคุณแก้ไขปัญหา
1.ความท้าทายด้านการมุ่งเน้น (Focus Challenges): ในการดำเนินธุรกิจ มีหลายๆสิ่งที่คุณต้องพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายหลายๆประการ คุณจำเป็นต้องเลือกโดยจัดลำดับความสำคัญ(prioritize) ซึ่งคุณสามารถเลือกเป้าหมายทางธุรกิจโดยพิจารณาจากสิ่งสำคัญ 3 สิ่งที่คุณต้องการบรรลุภายในปีนี้ และ กระจายเป้าหมายไปสู่รายไตรมาส เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะเลือกสนามที่จะลงแข่ง เมื่อเป้าหมายชัดเจน เส้นทางเดินก็จะค่อยๆปรากฏขึ้นเอง
2.ความท้าทายด้านการสอดคล้อง (Alignment Challenges): สำหรับการดำเนินธุรกิจนั้นควรพิจารณาถึงความสอดคล้องของเป้าหมายใหญ่ขององค์กรกับเป้าหมายของหน่วยงานตน นอกจากนี้ควรมีการสร้างความเข้าใจให้ทีมงานในทุกระดับ(Vertical alignment) มีความเข้าใจ ในเป้าหมายของหน่วยงาน นอกจากนี้หากเป้าหมายอยู่นอกขอบเขตความเชี่ยวชาญของหัวหน้างานแล้ว อาจมีการสร้างความร่วมมือกับทีมผู้เชี่ยวชาญอื่น(Horizontal alignment) เพื่อตอบโจทย์ปัญหาองค์กรร่วมกัน
3.ความท้าทายด้านความมุ่งมั่น(Commitment Challenges): การขาดความมุ่งมั่นหรือความคิดสร้างสรรค์เป็นปัญหาสำคัญในการทำงาน ทั้งนี้อาจไม่ใช่ความผิดของพนักงานหรือผู้ร่วมทีมเพียงอย่างเดียว ในสภาพการณ์ที่หัวหน้าทีมคิดรายละเอียดโครงการทั้งหมดและบอกให้ผู้ร่วมทีมทำตามคำสั่งแต่เพียงอย่างเดียว อาจทำให้ผู้ร่วมทีมขาดความมุ่งมั่นที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ ดังนั้นการรับฟังความคิดเห็นหรือให้ทีมงานมีส่วนร่วมในการออกแบบโครงการหรือกิจกรรม จะสร้างความมีส่วนร่วมของทีมงานได้ดี
4.ความท้าทายด้านการติดตามผล (Tracking Challenges): หากคุณไม่มีกระบวนการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ คุณจะไม่รู้แม้กระทั่งว่าคุณเข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้เพียงใด สิ่งสำคัญคือ
• คุณต้องรู้ว่าจะวัดเป้าหมายใดเพื่อตรวจสุขภาพขององค์กร
• คุณต้องรู้ว่าจะติตดามและวัดผล ตัวชี้วัดใด ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
• คุณต้องเปรียบเทียบความก้าวหน้ากับเป้าหมายที่กำหนดไว้
5.ความท้าทายด้านการตั้งเป้าที่ท้าทาย(Stretching Challenges): อะไรคือการตั้งเป้าหมายของหน่วยงานของคุณ
• คุณตั้งเป้าหมายของหน่วยงานไว้ว่าจะบรรลุตัวชี้วัด 100% แต่ในความเป็นจริงคุณทำได้ถึง 133% ของค่าเป้าหมาย
• คุณตั้งเป้าหมายที่ค่อนข้างท้าทาย แต่คุณบรรลุได้เพียง 70 % ของค่าเป้าหมาย
สำหรับกรณีแรก อาจมีความจำเป็นต้องบรรลุค่าเป้าหมาย 100% ซึ่งค่าเป้าหมายในลักษณะนี้คล้ายๆกับการตั้ง KPI ในหน่วยงานภาครัฐ เป็นการตั้งเป้าหมายที่บรรลุแน่ๆ (sandbag) เป็นเป้าหมายที่คุณสามารถบรรลุได้แน่นอน ซึ่งคุณอาจไม่ได้ใช้ศักยภาพของคุณอย่างเต็มที่
ทั้งหมดนี้ สามารถสรุปเป็นคำย่อว่า F.A.C.T.S ทีนี้เราลองมาตั้งเป้าหมายเพื่อลดการระบาดของโควิด-19 ในระลอก 3 กันครับ
F = คงต้อง Focus ไปที่การเน้นการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด เทียบกับการติดตามและประเมินผู้มีความเสี่ยง
A = การทำงานของหน่วยงานต่างๆในภาครัฐ ตั้งแต่ระดับกระทรวง ถึง โรงพยาบาลควรทำงานประสานกัน (Vertical alignment) ให้มีการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านการนำเข้า การผลิต การสต็อค และการฉีด แอบคิดว่า ถ้าภาครัฐไม่ไหวจริงๆ อาจต้องทำ (Horizontal strategic alignment) ปล่อยให้ รพ.เอกชน ดำเนินการนำเข้าวัคซีนอย่างเสรี และช่วยกันกระจายวัคซีนอีกแรง ตัวอย่างนี้เห็นจริงในสหรัฐอเมริกา ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ก็มีเป้าในการกระจายการฉีดวัคซีนที่ท้าทาย
C = การกระจายการฉีดวัคซีนของหน่วยงานต่างๆ ต้อง Commit กับเป้าที่ตั้งไว้ เช่น ถ้ามีเป้าที่จะฉีดวัคซีน เดือนละ 10 ล้านคน ก็ต้องมีการกระจายภาระให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดูความเป็นไปได้ด้วย
T = ภาครัฐน่าจะมี Dashboard แสดงความคืบหน้าว่าฉีดวัคซีนไปแล้วกี่คน ในพื้นที่บริเวณใดบ้าง ลงลึกในระดับจังหวัด คล้ายๆกับรายงานการติดเชื้อในแต่ละวันที่ทำได้ดี
S = ตรงนี้เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดสำหรับ OKRs คือ เป้าที่ท้าทาย ผมมองว่าถ้ารัฐบาลไทย มีเป้าที่จะฉีดวัคซีนให้คนไทยอย่างน้อย 80 % ของประชากรภายใน มิ.ย. ก็จะเยี่ยมมาก เพราะตั้งแต่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป เฉพาะในส่วนของภูเก็ต สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีน 2 โดส หรือตามจำนวนที่กำหนด ก็ไม่จำเป็นต้องกักตัว แต่สำหรับพื้นที่อื่น ๆ ยังคงต้องใช้เวลากักตัว 7 วัน อันนี้จะช่วยส่งสัญญาณถึง การเป็นประเทศที่มีการระบาดโควิด-19 ต่ำ หากรัฐไม่ทำอะไร นักท่องเที่ยวอาจไม่กล้าเดินทางเข้ามา ถึงแม้มีมาตรการผ่อนคลายก็ตาม
หมายเหตุ ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของ admin นะครับ
สวัสดีครับ แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า เที่ยวสงกรานต์ให้สนุกนะครับ