หน้าที่หลักขององค์กร คือ การกำหนดเป้าหมายและหาทางที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ถ้าทุกองค์กรสามารถทำได้ตามตั้งใจ ทุกองค์กรก็จะประสบความสำเร็จทั้งหมด อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ องค์กรส่วนมากจะเผชิญปัญหาที่หลายๆอย่างไม่เป็นไปตามแผนงาน องค์กรส่วนใหญ่มีการกำหนดวิสัยทัศน์ คุณค่าร่วม และบางองค์กรก็ประสบความสำเร็จ ด้วยกลยุทธ์ที่มีความชัดเจน และนำ OKR มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนกลยุทธ์
ไมเคิล อี พอร์ตเตอร์ กูรูชื่อดัง กล่าวไว้ว่า
ความสำคัญของกลยุทธ์ คือ การเลือกที่จะไม่ทำอะไรบางอย่าง
(The essence of strategy is choosing what not to do.)
กลยุทธ์ คือ อะไร
กลยุทธ์ คือ หลักการและแนวทางในการชี้นำองค์กรในการกำหนดทิศทางและบรรลุถึงผลสำเร็จที่ต้องการ
10 คำถาม ในการกำหนดกลยุทธ์องค์กร
1.อะไรคือวัตถุประสงค์ขององค์กร
2.อะไรคือจุดที่องค์กรมุ่งเน้น เพื่อที่ทำให้องค์กรคุณบรรลุวัตถุประสงค์
3.คุณค่าร่วมขององค์กรคืออะไร
4.อะไรคือวัตถุประสงค์ของคุณที่ต้องบรรลุ เพื่อให้องค์กรบรรลุผลสำเร็จ
5.ความคาดหวังด้านกำไรขององค์กรคืออะไร
6.อะไรคือ ความสำคัญเร่งด่วนที่คุณต้องทำ
7.คุณจะจัดสรรทรัพยากรอย่างไร
8.ใครคือลูกค้าเป้าหมายของคุณ
9.คุณกำหนดตำแหน่งของแบรนด์และสินค้าอย่างไร
10.อะไรคือเป้าหมายทางการตลาดที่คุณต้องการ
คุณผู้อ่านลองนำคำถามข้างต้น ทบทวนองค์กรของตนดู
ทำไมถึงมีช่องว่างในการขับเคลื่อนกลยุทธ์
กลยุทธ์องค์กรมักดูสมบูรณ์แบบบนกระดาษ แต่ไม่ง่ายเวลาลงมือปฏิบัติ ช่องว่างมักเกิดขึ้นระหว่างแผนงานกับความเป็นจริง สาเหตุมักเกิดจาก
1.การกำหนดลำดับความเร่งด่วนผิด (Setting the priorities wrong)
องค์กรควรกำหนดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์องค์กร เมื่อกำหนดลำดับความสำคัญผิดพลาด ทีมก็จะไม่เข้าใจเป้าหมายที่ต้องบรรลุ และพนักงานก็จะไปมุ่งเน้นงานที่ไม่สำคัญซึ่งไม่ตอบโจทย์องค์กร
2.เบี่ยงเบนไปจากคุณค่าร่วม (Straying away from core values)
คุณค่าร่วมเป็นแรงผลักดันขององค์กร ซึ่งทุกคนควรปฏิบัติตามในทุกระดับ ทุกกิจกรรม ช่องว่างเชิงกลยุทธ์เกิดจากการที่พนักงานไม่สนใจในคุณค่าร่วม และไม่นำมาประยุกต์ใช้ในงาน
ตัวอย่างเช่น ถ้าองค์กรคุณ ให้ความสำคัญต่อลูกค้าเป็นลำดับแรก แต่ถ้าระบบการสนับสนุนลูกค้า ใช้งานยาก หรือ ไม่เป็นมิตรต่อลูกค้า ซึ่งทำให้ลูกค้าไม่พอใจ ถึงแม้ว่าคุณจะผลิตสินค้าที่ดีเพียงใด ก็จะเกิดปัญหาอยู่ดี
3.การขาดการสอดประสานกัน (Lack of alignment)
การทำงานขององค์กรต้องเป็นเอกภาพ ด้วยการทำงานร่วมกันของแต่ละหน่วยงานที่สอดคล้องประสานกัน เพื่อทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้า ทุกหน่วยงานต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตามการที่เป้าหมายของแต่ละหน่วยงานไม่สอดคล้องกัน นำไปสู่ช่องว่างในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ และทำให้แต่ละทีมมองลำดับความสำคัญของงานที่ต่างกัน ซึ่งนำไปสู่ความล้มเหลว และไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์องค์กรที่ตั้งเป้าหมายไว้
4.การตั้งเป้าหมายที่บกพร่อง (Flawed goal setting)
เมื่อไรที่พนักงานตั้งเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร หรือ กำหนดเป้าหมายที่ไม่สามารถวัดผลได้ การตั้งเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องทำให้เกิดช่องว่างในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ และนำไปสุ่เป้าหมายในระดับทีม และในระดับองค์กรที่ล้มเหลว
5.การขาดการประสานงานและการสื่อสารกัน (Lack of coordination and communication)
องค์กรไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จโดย คนใดคนหนึ่งหรือทีมใดทีมหนึ่ง พนักงานต้องทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตนที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของเป้าหมายทีม และ เป้าหมายจากหลายๆทีมที่ประสบความสำเร็จก็ส่งผลถึงเป้าหมายองค์กร ดังนั้นการประสานงานและการสื่อสารคือหัวใจที่สำคัญของความสำเร็จขององค์กร
6.การขาดความเป็นเจ้าของ (Lack of accountability)
พนักงานทุกคนควรแสดงความเป็นเจ้าของในงาน รวมทั้งเป้าหมายและคุณค่าร่วม เพื่อผลักดันให้กลยุทธ์มีการดำเนินการโดยสมบูรณ์ หากปราศจากความเป็นเจ้าของในงานที่ชัดเจน ก็จะไม่มีระบบการรายงานความก้าวหน้าเมื่อเทียบกับเป้าหมาย องค์กรก็ไม่สามารถใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่
OKR จะมาช่วยปิดช่องว่างของกลยุทธ์ได้อย่างไร
OKR คือ กรอบแนวคิดในการตั้งเป้าหมาย ที่จะช่วยองค์กรในการตั้งเป้าหมายที่ท้าทายและบรรลุผลสำเร็จที่ก้าวกระโดด OKR ช่วยในการติดตามความก้าวหน้าเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ และค้นหาช่องว่างในการดำเนินกลยุทธ์ นอกจากนี้ยังช่วยในการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว สร้างความสอดคล้องของเป้าหมายทั่วทั้งองค์กร ในหลายๆด้านดังนี้
1.OKR ช่วยสร้างความสอดคล้องของเป้าหมายทั่วทั้งองค์กร (OKR creates alignment)
OKR ช่วยสร้างความสอดคล้องของเป้าหมายทำให้พนักงานทั่วทั้งองค์กรขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่ง OKR ถูกถ่ายทอดจากองค์กรสู่ทีมและระดับบุคคล และจะเห็นถึงความเชื่อมโยงของ OKR จากระดับล่างสุดสู่เป้าหมายองค์กร นอกจากนี้ยังช่วยในการสร้างความสอดคล้องกันของเป้าหมายทั้งในแนวดิ่งและแนวนอน
2.OKR ช่วยในการจัดลำดับความสำคัญและมุ่งเน้นเฉพาะสิ่งที่ควรทำ (OKR helps to prioritize and focus on the right things)
เมื่อทั้งองค์กรถูกขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายเดียวกัน ผู้นำ หัวหน้าทีมและพนักงานแต่ละคน รู้ถึงลำดับความเร่งด่วนและความสำคัญของงาน และมุ่งที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่ ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
3.OKR นำคุณค่าร่วมมาสู่วัฒนธรรมองค์กร (OKR brings core values into the organization culture)
OKR ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างความสอดคล้องในการตั้งเป้าหมาย แต่ยังสร้างคุณค่าร่วมที่เป็นวัฒนธรรมที่ดี เช่น การพยายามบรรลุเป้าหมาย การทบทวน การหาจุดบกพร่องและร่วมกันแก้ไขทั้งในระดับ พนักงาน ทีมและผู้บริหารระดับสูง
4.OKR ช่วยแก้ไขปัญหาในการตั้งเป้าหมาย (OKR addresses the issues in goal setting)
เป้าหมาย OKR ต้องวัดผลและติดตามความก้าวหน้าได้ ซึ่งจะช่วยวัดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเป้าหมายทั่วทั้งองค์กร เมื่อไม่สามารถบรรลุเป้าหมายระยะสั้นได้ การทบทวนความคืบหน้ารายสัปดาห์ รายเดือนและรายไตรมาสเป็นประจำ จะช่วยในการติดตามและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที OKR เป็นเครื่องมือที่จะลดช่องว่างระหว่างเป้าหมายที่วางแผนไว้กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง
5.OKR ช่วยสร้างความมีส่วนร่วม ความเป็นทีมและการประสานงาน (OKR creates engagement, teamwork and coordination)
OKR ช่วยทำให้เห็นภาพการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ซึ่งช่วยในการสร้างพลังทวีคูณ (synergy) ระหว่างทีมในการมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น กรอบแนวคิด OKR มุ่งเน้นความสำเร็จร่วมกันของทีมมากกว่าความสำเร็จเฉพาะบุคคล ดังนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่พนักงานในฐานะสมาชิกทีมต้องร่วมกันทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งช่วยสร้างความมีส่วนร่วม ความเป็นทีม พัฒนาการประสานงานระหว่างทีม และนำองค์กรสู่ผลสำเร็จในที่สุด
6.OKR สร้างความเป็นเจ้าของและความรับผิดชอบ (OKR creates ownership and accountability)
ระบบการวัดผล OKR แสดงให้เห็นความก้าวหน้าของทีมและพนักงานทุกคนในองค์กรตลอดเวลา OKR สร้างอิสระให้พนักงานสามารถเลือกเป้าหมาย ในขณะเดียวกันก็ต้องรับผิดชอบในเป้าหมายที่เลือกไว้ พนักงานจะเห็นความก้าวหน้าของ OKR ของเพื่อนพนักงาน ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้พัฒนาตนเอง OKR ช่วยสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมและมีคุณภาพขึ้น และปิดช่องว่างของการผลักดันกลยุทธ์ในองค์กร
สรุป
OKR เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยผลักดันกลยุทธ์องค์กรไปสู่ความสำเร็จ เห็นข้อดีของ OKR มากมายแล้ว Admin อยากให้เพื่อนๆชาว HR ทดลองนำ OKR ไปใช้ในองค์กรกันครับ
สำหรับท่านที่สนใจ In-house OKRs workshop สามารถติดต่อได้ที่ 099-249-1636 หรือ info@bacconsultant.com
สวัสดีครับ แล้วพบกันใหม่
เครดิตบทความ https://www.profit.co/blog/okr-university/