EP 18:  OKR กับ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในฟิลิปปินส์

เมื่อเร็วๆนี้ได้มีโอกาส ไปทำ Roadmap อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในกรุงมะนิลาครับ ได้เห็นอะไรหลายๆอย่าง ที่คล้ายๆเมืองไทย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น ครอบคลุมด้านการแพทย์ (medical) และด้านการส่งเสริมสุขภาพ (wellness)

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของฟิลิปปินส์มีสัดส่วนถึง 21.1 % ต่อ GDP (ของไทย 21.2 %)  และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 66.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ของไทย 95 พันล้านเหรียญสหรัฐ)  ถึงแม้ว่าตัวเลข % ต่อ GDP จะใกล้กัน แต่ไทยเรามีมูลค่าสูงกว่ามาก แสดงถึงพัฒนาการด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของเรา ในด้านการสร้างมูลค่าเพิ่ม

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้านอื่นๆอีกมาก ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ภาครัฐในดูไบ เข้ามาตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลแถวนานา ก็จะมีการนำครอบครัวมาพักผ่อนที่เมืองไทย เช่น อยู่เที่ยวพัทยา หรือ เชียงใหม่ (ช่วงนี้ไปไม่ไหว ฝุ่นเยอะ) ต่อ

จากการสัมภาษณ์ผู้ใช้บริการ เวลานักท่องเที่ยวจะเลือกตรวจสุขภาพ หรือ มาใช้บริการทางการแพทย์ ก็มักจะมาทั้งครอบครัวและกลายเป็น Trip ท่องเที่ยวประจำปีของครอบครัวไป และก็อาจพิจารณาว่าการไปตรวจสุขภาพที่สิงค์โปร์ กับ ไทย ประเทศไหนคุ้มกว่าหรือมีที่เที่ยวมากกว่า

ถ้าประเทศไหนมีการพัฒนา Package ที่เชื่อมโยงด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไปกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติหรือเชิงวัฒนธรรม จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกมา

จริงๆแล้วคนฟิลิปปินส์กับไทย คล้ายคลึงกันมาก ทั้งหน้าตา จิตใจในการให้บริการ ฟิลิปปินส์ ส่งออกแรงงานและพยาบาลไปทั่วโลก อันเนื่องจากความสามารถด้านภาษาอังกฤษ หลังจากที่ระบอบเผด็จการมาร์กอสที่มีอำนาจมานานถึง 20 ปีล้มพังลงไปในปี 1986 การเมืองฟิลิปปินส์ในช่วง 30 ปีต่อมาตกอยู่ในสภาพสับสนวุ่นวาย เพราะเป็นช่วงสุญญากาศของภาวะผู้นำการเมือง

รัฐบาลต่อมาของนางคอราซอน อากีโน ต้องเผชิญปัญหาการท้าทายในทุกๆ ด้าน เช่น ทหารกลุ่มหนึ่งวางแผนรัฐประหาร ขบวนการปฏิวัติของฝ่ายซ้าย ส่วนคนฟิลิปปินส์ทั่วไปก็เรียกร้องให้มีการปฏิรูปแท้จริง ในเดือน พฤษภาคม 2559 คนฟิลิปปินส์ เลือก โรดรีโก ดูแตร์เต เป็นประธานาธิบดี คนที่ 16 ซึ่งมีนโยบายที่ถึงลูกถึงคนและไม่โปร อเมริกา

สภาพของเมืองมะนิลา คล้ายๆกับกรุงเทพฯในอดึต แต่ก็มีย่านเจริญคล้ายสีลม เช่น Makati  ยังมีปัญหาเรื่องความสะอาด ในบางส่วนของเมืองมะนิลา มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และ สถาปัตยกรรมตะวันตกที่สวยงาม เมื่อมองดูแล้วน่าจะมีการพัฒนาประเทศที่ไม่น้อยกว่าไทย

ปัญหาสำคัญที่เป็นปัญหา Classic คือ การเมืองที่วุ่นวายและไม่นิ่ง ทำให้การผลักดันนโยบาย หรือ แผนแม่บท ต่างๆ ไม่มีความต่อเนื่อง ก็เลยทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆไม่เชื่อมโยงและไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เท่าที่ควร

ก็เลยมองย้อนมานึกถึง การบริหารจัดการองค์กร ซึ่งไม่แตกต่างจากการบริหารประเทศ ในการทำแผนแม่บทต่างๆมักใช้แนวคิดของ Management by Objectives (MBO) ซึ่งเน้นในแง่ว่าจะทำอะไร(what) มีการทบทวนเป็นรายปี (annual) เป็นแผนของแต่ละหน่วยงาน (private and silo) เน้นแผนซี่งเป็นคำสั่งจากเบื้องบน(top-down) และ ไม่เน้นที่จะเสี่ยง (risk averse)

สำหรับการทำแผนแม่บทในครั้งนี้ ทางทีมได้เน้นที่จะทำแผนระยะสั้นถึงกลาง โดยกำหนดกรอบระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ได้กำหนดรูปแบบในลักษณะที่เป็น what and how คือ เป้าหมายอะไร และจะบรรลุได้อย่างไร มีการรวมผู้ที่ออกแบบแผนฯ ในลักษณะคลัสเตอร์ คือ มีทั้งผู้แทนจากภาคเอกชน ผู้กำหนดนโยบาย สถาบันการศึกษา หน่วยที่ให้การรับรองมาตรฐาน มาร่วมกันให้ความเห็น (top down and bottom up) ซึ่งทำให้แผนมีลักษณะที่เป็น aggressive and aspirational

ซึ่งฟิลิปปินส์มีเป้าหมายที่ จะเป็น Heart of Asia ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

พอมานึกถึงการทำแผนฯแล้ว ภาครัฐควรที่จะนำ OKR มาประยุกต์ใช้ ในการติดตามความคืบหน้าในทุกไตรมาสหรือรายเดือน จะได้รู้ว่าตอนนี้เรื่องต่างๆที่วางไว้ ไปถึงไหนแล้ว ถ้าทำได้ตามนั้นประเทศคงพัฒนาไปอย่างมาก และมีการชี้แจงผลงานให้ประชาชนทราบ (transparency) เป็นระยะ

ตอนนี้ทั้ง 2 ขั้ว กำลังแข่งขันกันจัดตั้งรัฐบาล ก็หวังว่ารัฐบาลใหม่ที่มาบริหาร จะนำแนวคิด OKR ไปใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน

สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ